top of page

ไทหล่ม

หลวงพระบางเมืองไทย

       “วัฒนธรรมไทหล่ม” ที่มีความงดงาม โดดเด่นและมีอัตลักษณ์สูง  มี
จุดศูนย์กลางอยู่ที่ “หล่มเก่า”   ซึ่งในปัจจุบัน กลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมนี้ ยังปรากฏให้เห็นและสัมผัสจับต้องได้

       หล่มเก่า เป็นอำเภอที่อยู่ตอนเหนือสุดของจังหวัดเพชรบูรณ์  ตั้งอยู่ริมลำน้ำพุงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก มีภูเขาขนาบ 3 ข้างคือ ทิศตะวันออก ตะวันตกและทิศเหนือ  บริเวณนี้มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก ตามประวัติความเป็นมาคือ บริเวณแห่งนี้เป็นที่ตั้งบ้านเมืองดั้งเดิม เป็นชุมชนมั่นคงมาช้านาน โดยมีชื่อว่า เมืองลุ่มหรือเมืองหล่มและเมืองหล่มสัก เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเดียวกับคนลาวหลวงพระบางที่ได้อยู่อาศัยแผ่ขยายครอบคลุมต่อเนื่องลงมาในพื้นที่ทางใต้ทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทยรวมถึงแถบแม่น้ำป่าสักตอนบน  คนหล่มจึงมีวัฒนธรรม ประเพณีและภาษาของตนเองที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านช้างอย่างชัดเจน  แต่ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ พระสุริยวงษาฯ (คง) เจ้าเมืองหล่มสักเห็นว่าการติดต่อค้าขายและการคมนาคมได้เปลี่ยนทิศทางไปโดยให้ความสำคัญกับการติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองทางใต้โดยใช้เส้นทางแม่น้ำป่าสักแทน  จึงทำการสร้างเมืองหล่มสักขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำป่าสัก และเมืองหล่มเดิมนี้จึงถูกเรียกว่า หล่มเก่า นับแต่นั้นเป็นต้นมา

วิถีไทหล่ม

มนต์เสน่ห์ หล่มเก่า

ด้านลักษณะของผู้คน 

       คนหล่มสืบเชื้อสายมาจากคนลาวที่มีถิ่นกำเนิดจากเมืองหลวง
พระบาง ที่คนไทยเคยเรียกว่า ลาวพุงขาว ที่ในอดีตเคยนิยมการสักขาตั้งแต่หน้าขายาวลงมาจนคลุมเขาทั้ง 2 ข้าง  ภาษาที่ใช้พูดกันก็เป็นแบบลาวหลวงพระบางซึ่งภาษาหล่มนี้มีเอกลักษณ์ที่ฟังไพเราะ มีโทนเสียงงดงาม นุ่มนวลเหมือนภาษาล้านนาแต่ศัพท์จะเป็นแบบภาษาอีสาน  วัฒนธรรมไทหล่มนี้ก็จะอยู่ระหว่างกลางของ2 วัฒนธรรมดังกล่าว จึงทำให้ภาษาหล่มเป็นการเซาะกันระหว่าง 2 ภาษานั่นเอง  คนหล่มเป็นคนมีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความจริงใจและให้ตอนรับแขกต่างบ้านอย่างดียิ่ง 

ขนมเส้น ของขึ้นชื่อหล่มเก่า

ด้านประเพณีและความเชื่อ 
 

       นอกจากพุทธศาสนาแล้ว คนหล่มยังคงนับถือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ โดยเกือบทุกหมู่บ้านทั้งในเมืองและนอกเมืองจะมี หอเจ้าพ่อเป็นที่สถิตเจ้าพ่อซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและคุ้มครองให้ได้รับความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีชื่อเรียกเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านของตนต่างกันออกไปมากมาย เช่น เจ้าพ่อขุนซวง เจ้าพ่อสามดาว เจ้าพ่อหนองบัว เจ้าพ่อหนองดู่ เจ้าพ่อพระพรหม เป็นต้น เจ้าพ่อทุกองค์จะมีร่างทรงและมีบริวารเจ้าพ่อหรือที่เรียกว่า “กวนข้าวจ้ำ”  ประมาณเดือน 6 จะมีการเลี้ยงปีกันใหญ่โต ใครอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาร่วมงานกัน  อีกทั้งเจ้าพ่อยังมีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกว่า  “การปัว”  ให้ผู้คนอีกด้วย 

ด้านวิถีชีวิตและอาหารการกิน 

       วิถีชีวิตคนหล่มเก่าจะเรียบง่าย และรู้จักกันแทบจะทุกคนทุก
หลังคาเรือน   ชีวิตคนหล่มจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งการเตรียมทำงานบ้านและออกไปทำมาหากิน  ที่ตลาดสดเมืองหล่มเก่าก็น่าเดินเล่นเป็นอย่างยิ่งเพราะยังคงความเป็นพื้นบ้านและมีวัตถุดิบของสดมากมายที่สามารถนำไปปรุงอาหารบ้านพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาลได้ เช่น ผักบีกั้ง แจ่วขี้ปู แจ่วขี้ปลา หมกอีฮวก แกงน้องวัว น้ำยาออดอ้อ น้ำยาปู อูดลูดหน่อไม้ หมกปู ไส้กรอก หมกหน่อไม้ หมกหยวก ซุปบักมี้ ซ่าแตง ฯลฯ  ส่วนของกินที่ขึ้นชื่อของหล่มเก่าที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ซึ่งใครมาถึงเมืองหล่มเก่าจะต้องมาชิมลิ้มรสชาติกันทุกคน  นั่นคือ ขนมเส้นหล่มเก่า ที่ใช้วิธีบีบเส้นสด  มีน้ำผสมและเครื่องเคียง ผักแกล้มมากมาย และที่สำคัญที่สุด หล่มเก่าเป็นแหล่งกำเนิดมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพันธุ์หมื่นจง และในปัจจุบัน  หล่มเก่ายังมี
ตลาดนัดมะขามหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

       ส่วนนิทานตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ของหล่มเก่า ก็มีมากมาย เช่น การกำเนิดบ้านหินกลิ้ง ประวัติเรื่องราวเจ้าแม่เข็มทองของบ้านวัดตาลตำนานตอไม้มาดที่บ้านวังบาลที่มีเรื่องราวการขนขอนไม้มาดเพื่อนำส่งลงไปเมืองหลวง โดยระหว่างทางจะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ จนมีการเชื่อมโยงนำไปตั้งเป็นสถานที่ต่าง ๆ มากมายในหล่มเก่า เช่น พระธาตุดอยสะเก็ด หนองขาม เจ้าพ่อขุนจบ เจ้าพ่ออู่คำ และเจ้าพ่อเหล็กซี เป็นต้น  ความเชื่อเรื่องนิทานหลอกเด็ก ผีตาโม่ ของบ้านนาทราย  ส่วนประเพณีที่สำคัญของหล่มเก่าคือการแข่งเรือลาพรรษาในลำน้ำพุงที่จัดต่อเนื่องกันมาช้านาน  งานประจำปีขนมเส้นหล่มเก่า  นอกจากนั้น เมื่อถึงฤดูกาล ยังอาจเห็นประเพณีบุญบั้งไฟในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านนาแซง บ้านนาเกาะ เป็นต้น อีกทั้งประเพณีการถวายต้นผึ้งก็คงคงมีการปฏิบัติอยู่บ้างตามวัดต่าง ๆ

ผีตาโม่

ด้านที่อยู่อาศัยและหมู่บ้าน 
 

       บ้านเรือนอยู่อาศัยของคนหล่มเก่าแต่เดิมนั้นก็นิยม
สร้างด้วยไม้ สร้างใกล้ชิดติดกันอย่างอบอุ่น ใต้ถุนสูง บนบ้านมีส่วนฝาเปิดและตีไม้ระแนงเป็นตารางเพื่อให้อากาศผ่านได้ดีแต่สามารถป้องกันอันตรายจากภายนอกได้ไปในตัวด้วย ความเป็นหมู่บ้านที่อยู่กันอย่างอบอุ่นแน่นแฟ้นกันนี้ ยังจะพบเห็นได้ที่ บ้านศรีสุมัง บ้านวัดตาล บ้านหินกลิ้ง เป็นต้น ส่วนในตัวตลาดหล่มเก่านั้น ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นห้องแถวโบราณที่สร้างด้วยไม้อยู่มากมาย โดยส่วนใหญ่ห้องแถวดังกล่าวมีระเบียงอยู่ชั้นสอง ดูสวยงามและมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ที่บ้านภูผักไซ่ จะมีบ้านที่สร้างเป็นลักษณะพิเศษคือ บ้านเสายองหิน ที่มีภูมิปัญญาโบราณแฝงอยู่  ชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ในหล่มเก่าก็มีความแปลกและน่าสนใจถึงความหมายและที่มา เช่น  หินกลิ้ง หินฮาว โจะโหวะ วังเวิน วังบาล ท่าผู ภูผักไซ่ ปาผา ทับเบิก นาแซง นาเกาะ แก่งโตน สงเปลือย ศิลา ตาดกลอย เป็นต้น

ด้านศาสนสถาน 

       จุดเด่นของหล่มเก่าประการหนึ่ง คือการมีวัดที่เก่าแก่
จำนวนมาก สะท้อนยืนยันให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเชื้อสายเดียวกันกับคนหลวงพระบางที่มีศิลปะล้านช้าง ได้แก่ หลวงพ่อใหญ่ 3 วัดได้แก่ 
วัดศรีมงคลบ้านหินกลิ้ง วัดตาลและวัดทุ่งธงไชย สิมโบราณที่วัดศรีบุญเรืองบ้านนาซำ วัดโพธิ์ทองบ้านน้ำครั่ง วัดศรีมงคลบ้านนาทราย และวัดม่วงเย็นบ้านน้ำอ้อย  ศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ก็มีกระจัดกระจายกันทั่วพื้นที่เต็มไปหมด คือ หลวงพ่อขาวที่บ้านวัดตาล พระธาตุที่วัดพลแพงบ้านนาแซง พระธาตุปู่เถร พระธาตุในวัดศรีฐานและพระธาตุดอยสะเก็ดบ้านวังบาล พระธาตุที่วัดศรีมงคลบ้านหินกลิ้ง พระธาตุวัดม่วงชุมบ้านพรวน และพระธาตุภูผาชัยสวรรค์บ้านภูผักไซ่  นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้ายและพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอยู่วิหารหลังโบสถ์วัดทุ่งธงไชยอีกด้วย  ที่สำคัญที่สุดคือ ที่หล่มเก่ามีศิลปะที่มีความโดดเด่นสวยงามน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ จิตรกรรมฝาผนังในสิมวัดศรีมงคลบ้านนาทราย และจิตรกรรมเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลาวัดทรายงามบ้านห้วยมะเขือ

บ้านเสายองหิน

History | ประวัติ

bottom of page